วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การละเล่นสงกรานต์ในอดีต





       วันสงกรานต์ในอดีตมีการละเล่นมากมาย หนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดผูกมิตรสัมพันธ์ต่อกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เอง ลักษณะการละเล่นนั้นหนุ่มสาวจะแบ่งกันออกเป็นสองฝ่าย จัดทีมแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม โดยมีผู้ใหญ่ที่ได้รับความนับถือเป็นผู้ควบคุมการละเล่น ผู้คนที่เดินขวักไข่วทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะล้อมวงส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจอยู่วงนอก บางการละเล่นที่ต้องใช้ผู้เล่นจำนวนมากอย่าง ชักคะเย้อ และมอญซ่อนผ้า ผู้คนที่ยืมดูอยู่รอบวงก็สามารถเข้าร่วมการละเล่นอันสนุกสนานในวงได้
การละเล่นพื้นบ้านประเภทเกมที่นิยมนำมาเล่นกันช่วงเทศกาลสงกรานต์ในอดีตมีหลายอย่าง เช่น งูกินหาง วิ่งเปรี้ยว ช่วงชัย เขย่งแตะ หลับตาตีหม้อ ชักคะเย้อ ไม้หึ่ง สะบ้า ขี่ม้าส่งเมือง ลิงชิงหลัก ส่วนการละเล่นที่เป็นการร้องรำทำเพลงอย่าง เพลงยาว ลำตัด รำวง รวมไปถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับการประกวดประขันอย่างการประกวดนางสงกรานต์นั้นจะขาดไม่ได้ในงานสงกรานต์แต่ละที่ มีหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ได้เริ่มรู้จักรู้ใจ จนมีโอกาสได้ศึกษานิสัยใจคอต่อยอดไปเป็นความสัมพันธ์กระทั่งลงเอยถึงการมีชีวิตคู่ร่วมหอลงโลงนั้นมีไม่น้อย
สิ่งหนึ่งที่คนสมัยก่อนจะต้องทำกันในวันสงกรานต์คือการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า และขนทรายเข้าวัด ร่วมกันก่อเจดีย์ทรายกลางลานวัด ก่อนจะสรงน้ำพระกันในช่วงบ่าย ซึ่งแต่ละท้องถิ่นอาจจะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างตามความเชื่อและยุคสมัย
การสาดน้ำเป็นสิ่งที่ยังคงสืบสานจากสงกรานต์ในอดีตมาจนปัจจุบัน การสาดน้ำสงกรานต์ของคนไทยในอดีตจะเล่นกันหลังจากการสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และรดน้ำดำหัวขอพรจากญาติผู้ใหญ่แล้ว การสาดน้ำของหนุ่มสาวสมัยก่อนจะใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบที่มีกลิ่นหอม ซึ่งแตกต่างจากการเล่นสาดน้ำในปัจจุบันที่มีทั้งการผสมสี ผสมน้ำแข็ง และสิ่งที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเอามาใส่น้ำสาดกันได้อย่างเม็ดแมงลัก และอื่นๆเท่าที่จะคิดสรรได้ ช่างเป็นการเล่นสงกรานต์ที่ไม่เหมาะสมถือเอาแต่ความคึกคะนองจนเกินงาม สถานที่สาดน้ำของผู้คนสมัยก่อนมักเป็นที่ลานวัด หรือลานกว้างของหมู่บ้าน พอเหน็ดเหนื่อยก็จะเอาขนมของว่างที่ชาวบ้านเรี่ยรายเงินกันทำไว้มาแจกจ่ายแบ่งกันกินแก้หิว พ่อตกเย็นย่ำผู้คนจะพากันแยกย้ายกลับบ้านไปอาบน้ำแต่งตัวปะแป้งร่ำกลิ่นหอมคลุ้งบ้าน ก่อนจะพากันกลับไปรวมที่ลานวัดหรือลานของหมู่บ้านอีกครั้งเพื่อร่วมการละเล่นพื้นบ้าน

ออนไลน์ : http://www.kroobannok.com/blog/31837 , 5 พ.ค. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น