วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผลกระทบในการเล่นสงกรานต์


ปีใหม่ของประเทศไหนๆ ใครๆ เขาก็เฉลิมฉลองกัน อย่างมีความสุข แต่ประเทศไทยเรากลับกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความเศร้า เฝ้ารอการนับศพ รอดูสถิติอุบัติเหตุและความสูญเสียตลอด 7 วันอันตราย ทั้งที่ควรจะเป็น 7 วันแห่งความสุขใจที่ได้อยู่กับบ้านและครอบครัว
ปัจจุบันการเล่นสงกรานต์ เข้าข่าย “สาดเลือด แทนการสาดน้ำ” ความสุข และความสนุกสนาน งดงามแบบประเพณีไทย กลายเป็นความโศกเศร้าของผู้ปกครอง ตลอดจนครอบครัวผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต และเป็นที่น่าเวทนาสำหรับผู้พบเห็นในวันปีใหม่ไทย ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยอีกด้วย
พฤติกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ที่อันตรายมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น กลุ่มผู้เล่นน้ำสงกรานต์ตามจุดต่าง ๆ มีการปิดถนน โดยไม่ได้รับอนุญาติจากทางเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ภาพเหตุการณ์น่าสลดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ไทย ยังมีให้พบเห็น ในกลุ่มผู้เล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่เล่นด้วยความรุนแรง เล่นลักษณะอนาจารล่วงละเมิดทางเพศ และ ดื่มสุราขณะเล่นน้ำจนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย
นอกจากเหนือจากการขับรถด้วยความเร็ว ขาดสติประมาท ขาดวินัยจราจรและการพักผ่อนไม่เพียงพอหลับในแล้ว  น้ำเมา (เหล้าและเบียร์) ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตาย ยิ่งกว่าการทำสงครามในอิรักหรืออัฟกานิสถาน เพราะเพียงสัปดาห์เดียวมีคนต้องตายไปนับร้อยนับพันคน ส่วนคนที่เมาแล้วก็นำมาซึ่งความสูญเสีย ความรุนแรง พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำอนาจารลวนลามหญิงสาว รวมทั้งเห ตุทะเลาะวิวาทยกพวกตีกันแทงกัน ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น
แต่ก็แปลกที่เทศกาลนี้ กลับไม่มีการควบคุมการดื่มการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันอย่างจริงจังเท่าไหร่นัก ฤาว่าเป็นช่วงนี้ ถือช่วงเวลาแห่งการทำกำไรที่มากที่สุดของบรรดาพ่อค้าธุรกิจน้ำเมา ที่เอาความตายของลูกหลานมาแลกกับยอดขายที่เป็นกอบเป็นกำ และทิ้งภาวะด้านสังคมไว้ให้คนไทยแก้ไขกันเอง

ทำสงกรานต์ให้ปลอดภัย
1. เจ้าภาพผู้จัดงานต้องลดปัจจัยเสี่ยง
จัดให้มีการรณรงค์ ประกาศเป็นนโยบาย มีการตรวจตราและเฝ้าระวังโดยเจ้าหน้าที่เพื่อลดการดื่ม-การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่เล่นน้ำ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า น้ำเมาและคนเมา
เป็นสาเหตุสำคัญของความไม่ปลอดภัย ความสูญเสียและความรุนแรงนานับประการ
 2. เพิ่มพื้นที่ดี
การกำหนดขอบเขตของพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยที่ชัดเจน การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรมการแสดงออกในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เช่น ดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การละเล่นต่างๆ จัดกิจกรรมฝากเหล้าไว้กับตำรวจ น้ำดื่มชื่นใจแลกเหล้า
 3. มีความร่วมมือของผู้ร่วมจัดงาน
ตำรวจ สรรพสามิต เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมมือกันเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยตลอดงานเทศกาล
ออนไลน์ : http://songkran.stopdrink.com/ ,5 พ.ค. 2554 

การแต่งกายในวันสงกรานต์

การแต่งกายในสมัยอดีต





         ถ้าเป็นผู้หญิงก็นุ่งผ้าลายโจงกระเบนและห่มผ้าสีสไบเฉียง และอาจนุ่งสีตามวันที่กำหนดไว้เป็นธรรมเนียม นุ่งห่มอย่างนี้เป็นแต่แบบผู้หญิงชาววัง ซึ่งนิยมกันว่าสวยเก๋ ตลอดจนกิริยามารยาทก็งามน่าดู เป็นอย่างขัดเกลากันมาดีแล้ว เรื่องนุ่งผ้าสีประจำวัน คนแต่ก่อนรู้กันดีว่าวันไหนครวจะใช้สีไหนเพราะถือเป็นประเพณีสืบกันมา การแต่งตัวในวันสงกรานต์ ก็เพื่อให้เหมาะสมกับที่ถือกันว่า สงกรานต์เป็นปีใหม่ อายุใหม่ จึงควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ เพราะจะทำให้สบายใจ และประกวดประขันในการแต่งตัว

ออนไลน์ : http://www.thailine.com/thailand/thai/fest-t/songlan.htm , 5 พ.ค. 2554

การแต่งกายในปัจจุบัน


เล่นน้ำสงกรานต์รูปวันสงกรานต์ เชียงใหม่



         การแต่งกายวันสงกรานต์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยทุกคนควรตระหนักถึง หรือผู้ปกครองควรควบคุมดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ( http://www.oknation.net/blog/mam/2008/04/26/entry-1 , 5 พ.ค. 2554) เนื่องจากปัจจุบันการแต่งกายของเด็กสาวดูหวาบหวิว ทั้งวัยรุ่นหญิงและชาย รวมถึงผู้ปกครองควรทำหน้าที่ในการดูแลบุตรหลานในเรื่องนี้ เพราะในวันสงกรานต์มักจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับผู้หญิงบ่อยครั้ง เช่น การลวนลามผู้หญิง หรืออาจเป็นปัญหาใหญ่ไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ด้วย และสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการแต่งตัววาบหวิว สำหรับสงกรานต์ที่ผ่านมา ดังนั้นทางออกที่แก้ง่ายที่สุดคือการแต่งตัวให้มิดชิดเหมาะสมกับสถานที่และเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง

( หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันที่ 15 เมษายน 2552 )

การละเล่นสงกรานต์ในอดีต





       วันสงกรานต์ในอดีตมีการละเล่นมากมาย หนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดผูกมิตรสัมพันธ์ต่อกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เอง ลักษณะการละเล่นนั้นหนุ่มสาวจะแบ่งกันออกเป็นสองฝ่าย จัดทีมแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม โดยมีผู้ใหญ่ที่ได้รับความนับถือเป็นผู้ควบคุมการละเล่น ผู้คนที่เดินขวักไข่วทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะล้อมวงส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจอยู่วงนอก บางการละเล่นที่ต้องใช้ผู้เล่นจำนวนมากอย่าง ชักคะเย้อ และมอญซ่อนผ้า ผู้คนที่ยืมดูอยู่รอบวงก็สามารถเข้าร่วมการละเล่นอันสนุกสนานในวงได้
การละเล่นพื้นบ้านประเภทเกมที่นิยมนำมาเล่นกันช่วงเทศกาลสงกรานต์ในอดีตมีหลายอย่าง เช่น งูกินหาง วิ่งเปรี้ยว ช่วงชัย เขย่งแตะ หลับตาตีหม้อ ชักคะเย้อ ไม้หึ่ง สะบ้า ขี่ม้าส่งเมือง ลิงชิงหลัก ส่วนการละเล่นที่เป็นการร้องรำทำเพลงอย่าง เพลงยาว ลำตัด รำวง รวมไปถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับการประกวดประขันอย่างการประกวดนางสงกรานต์นั้นจะขาดไม่ได้ในงานสงกรานต์แต่ละที่ มีหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ได้เริ่มรู้จักรู้ใจ จนมีโอกาสได้ศึกษานิสัยใจคอต่อยอดไปเป็นความสัมพันธ์กระทั่งลงเอยถึงการมีชีวิตคู่ร่วมหอลงโลงนั้นมีไม่น้อย
สิ่งหนึ่งที่คนสมัยก่อนจะต้องทำกันในวันสงกรานต์คือการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า และขนทรายเข้าวัด ร่วมกันก่อเจดีย์ทรายกลางลานวัด ก่อนจะสรงน้ำพระกันในช่วงบ่าย ซึ่งแต่ละท้องถิ่นอาจจะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างตามความเชื่อและยุคสมัย
การสาดน้ำเป็นสิ่งที่ยังคงสืบสานจากสงกรานต์ในอดีตมาจนปัจจุบัน การสาดน้ำสงกรานต์ของคนไทยในอดีตจะเล่นกันหลังจากการสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และรดน้ำดำหัวขอพรจากญาติผู้ใหญ่แล้ว การสาดน้ำของหนุ่มสาวสมัยก่อนจะใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบที่มีกลิ่นหอม ซึ่งแตกต่างจากการเล่นสาดน้ำในปัจจุบันที่มีทั้งการผสมสี ผสมน้ำแข็ง และสิ่งที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเอามาใส่น้ำสาดกันได้อย่างเม็ดแมงลัก และอื่นๆเท่าที่จะคิดสรรได้ ช่างเป็นการเล่นสงกรานต์ที่ไม่เหมาะสมถือเอาแต่ความคึกคะนองจนเกินงาม สถานที่สาดน้ำของผู้คนสมัยก่อนมักเป็นที่ลานวัด หรือลานกว้างของหมู่บ้าน พอเหน็ดเหนื่อยก็จะเอาขนมของว่างที่ชาวบ้านเรี่ยรายเงินกันทำไว้มาแจกจ่ายแบ่งกันกินแก้หิว พ่อตกเย็นย่ำผู้คนจะพากันแยกย้ายกลับบ้านไปอาบน้ำแต่งตัวปะแป้งร่ำกลิ่นหอมคลุ้งบ้าน ก่อนจะพากันกลับไปรวมที่ลานวัดหรือลานของหมู่บ้านอีกครั้งเพื่อร่วมการละเล่นพื้นบ้าน

ออนไลน์ : http://www.kroobannok.com/blog/31837 , 5 พ.ค. 2554

กิจกรรมในวันสงกรานต์


รูปจาก : http://www.prsociety.net/th/news/detail.php , http://www.moph.go.th/show_hotnew.php?idHot_new=31539


  • การทำบุญตักบาตร  ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
  • การรดน้ำ  เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
  • การสรงน้ำพระ  จะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย
  • บังสุกุลอัฐิ  กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
  • การรดน้ำผู้ใหญ่  คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
  • การดำหัว  ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อย
  • การปล่อยนกปล่อยปลา  ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
  • การนำทรายเข้าวัด  ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด
ออนไลน์ : http://th.wikipedia.org/wiki/  , 5 พ.ค. 2554

ประวัติวันสงกรานต์




              สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"

ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ
สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ 

การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
ออนไลน์ : http://webboard.mthai.com/5/2008-03-10/373206.html , 5 พ.ค. 2554

กำเนิดวันสงกรานต์
  


          มีเรื่องเล่าสืบ ๆ กันมา น่าจดจำไว้ดังข้อความจารึกวัดเชตุพน ฯ ได้กล่าวไว้ประดับความรู้ของสาธุชนทั้งหลายดังต่อไปนี้
        “ ….เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้นักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร ๒ คน ผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐี แล้วด่าเศรษฐี ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ เศรษฐีได้ฟังจึงถามว่า พวกเจ้ามาพูดหยาบคายดูหมิ่นเราผู้เป็นเศรษฐีเพราะ เหตุใด พวกนักเลงสุราจึงตอบว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปสมบัติก็จะ อันตรธานไปหมด หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรถึง ๒ คน และ รูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่าน เศรษฐีครั้นได้ฟังก็เห็นจริงด้วย จึงมีความละอายต่อนักเลง สุรายิ่งนัก จึงนึกใคร่อยากได้บุตรบ้าง จึงทำการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้มีบุตร อยู่ถึง ๓ ปี ก็มิได้มีบุตรสมดังปรารถนา
         เมื่อขอบุตรจากพระอาทิตย์และพระจันทรืมิได้ดังปรารถนาแล้วอยู่มาวันหนึ่งถึงฤดูคิมหันต์ จิตรมาส ( เดือน ๕ ) โลกสมมุติว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ คนทั้งหลายพากันเล่นนักขัตฤกษ์เป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ทั่วชมพูทวีป ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวาร ไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชา รุกขพระไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ตั้งจิตอธิษฐาน ขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทรมีความกรุณา เหาะไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้กับเศรษฐี
         พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตร ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วจึงปลูกปราสาทขึ้น ให้กุมารอยู่ใต้ต้นไทรริมสระฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นกุมารเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนจบไตรเพทเมื่ออายุได้ ๘ ขวบ และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ ชาวชมพูทวีปทั้งปวงซึ่งขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหมองค์หนึ่งได้แสดง มงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง
        เมื่อกบิลพรหมแจ้งเหตุที่ธรรมกุมารเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงลงมาถามปัญหาแก่ธรรมกุมาร ๓ ข้อ ความว่า
         ๑) เวลาเช้า สิริคือราศีอยู่ที่ไหน
         ๒) เวลาเที่ยง สิริคือราศีอยู่ที่ไหน
         ๓) เวลาเย็น สิริราศีอยู่ที่ไหน
         และสัญญาว่า ถ้าท่านแก้ปัญหา ๓ ข้อนี้ได้เราจะตัดศีรษะเราบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้ เราจะตัดศีรษะของท่านเสีย ธรรมกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญหาไป ๗ วัน กบิลพรหมก็กลับไปยัง พรหมโลก
         ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วงไปได้ ๖ วันแล้วยังไม่เห็นอุบายที่จะตอบปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วสิหนอ เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม เราหาต้องการไม่ จำจะหนีไป ซุกซ่อนตนเสียดีกว่า คิดแล้วลงจากปราสาทเที่ยวไปนอนที่ต้นตาล ๒ ต้น ซึ่งมีนกอินทรี ๒ ตนผัวเมีย ทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น
        ขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้น ได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้เรา จะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีผู้ผัวตอบว่า พรุ่งนี้ครบ ๗ วันที่ท้าวกบิลพรหม ถามปัญหาแก่ธรรมบาล กุมาร แต่ธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะเสียตามสัญญา เราทั้ง ๒ จะได้กินเนื้อมนุษย์ คือ ธรรมบาลกุมารเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามว่าท่านรู้ปัญหาหรือ ? ผู้ผัวตอบว่ารู้แล้วก็เล่าให้นาง นกอินทรีฟังตั้งแต่ต้นจนปลายว่า
         ๑) เวลาเช้าราศีอยู่ที่ หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า
         ๒) เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่ อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูบไล้ที่อก
         ๓) เวลาเย็นราศีอยู่ที่ เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
        ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของทั้งสองก็จำได้ จึงมีความโสมนัส ปีติยินดีเป็นอันมาก แล้วจึงกลับมาสู่ปราสาทของตน
        ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ ๗ ตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้ง ๓ข้อตามที่นัด หมายกันไว้ ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้ง ๓ ข้อตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหม ยอมรับว่าถูกต้องและยอมแพ้แก่ธรรมบาลกุมาร และจำต้องตัดศีรษะของตนบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่ จะตัดศีรษะ ได้ตัดเรียกธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ คือ
        ๑. นางทุงษะเทวี
         ๒. นางรากษเทวี
        ๓. นางโคราคเทวี
        ๔. นางกิริณีเทวี
         ๕. นางมณฑาเทวี
         ๖. นางกิมิทาเทวี
         ๗. นางมโหธรเทวี
         อันโลกสมมุติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์ กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกัน แล้วจึงบอกเรื่องราว ให้ทราบและตรัสว่าพระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้น ไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง ๗ จงเอาพานมารองรับเศียรของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหม ก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะเทวีธิดาองค์ใหญ่ในขณะนั้น โลกธาตุก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก
         เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์เอาพานรองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหมแล้วก็ให้เทพบรรษัท แห่ประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุราช ๖๐ นาทีแล้วจึงเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาศ กระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระวิษณุกรรมเทพบุตรก็เนรมิตโลงแก้ว อันแล้วไปด้วย แก้ว ๗ ประการ ชื่อภัควดีให้เทพธิดาและนางฟ้าแล้ว เทพยดาทั้งหลายก็นำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำ ในสระอโนดาต ๗ ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทั่วทุกๆ พระองค์ ครั้นได้วาระกำหนดครบ ๓๖๕ วัน โลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์นางเทพธิดาทั้ง ๗ ก็ทรงเทพพาหนะต่างๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมา เชิญพระเศียรกบิลพรหมออกแห่พร้อมด้วยเทพบรรษัทแสนโกฏิ ประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ ราชบรรษัท ทุกๆ ปีแล้วกลับไปยังเทวโลก… ”

ออนไลน์ : http://www.happykorat.com/index.php/story/418-.html , 5 พ.ค. 2554

ชื่อนางสงกรานต์
 
  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
  • ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)
  • ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)
  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)